สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ช้างเอเชีย (Asian Elephant)

ช้างเอเชีย (Asian Elephant)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Elephas maximus
ลักษณะ : ช้างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเชื่อว่ามีอยู่ราว ๆ 140 - 200 ตัว สายพันธุ์ที่พบในอุทยานฯ คือ ช้างเอเชียพันธุ์อินเดีย (E. m. indicus) ส่วนใหญ่มีขนาดความสูงช่วงไหล่ประมาณ 2-4 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 3,000-5,000 กิโลกรัม อายุเฉลี่ยประมาณ 60 ปี ช้างตัวเมีย มีระยะเวลาตั้งท้องนานประมาณ 18 - 22 เดือน ออกลูกครั้งละตัว โดยปกติช้างจะกินพืชเป็นอาหาร อาหารที่โปรดปราน ได้แก่ ไผ่ ขิง กล้วยป่า และหญ้า นอกจากนี้ ยังกินดินโป่งเพื่อเสริมแร่ธาตุอาหารด้วย ในวันหนึ่ง ๆ ช้างจะใช้เวลาหากินมากถึง 16-18 ชั่วโมง และใช้เวลานอน หลับพักผ่อนเพียง 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น กินอาหารประมาณร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว หรือประมาณวันละ 200 - 400 กิโลกรัม แต่ย่อยอาหารได้เพียงร้อยละ 40 จากปริมาณทั้งหมดที่กินเข้าไป ส่วนที่เหลือ จะถูกขับถ่ายออกมาสู่ดิน กลายเป็นปุ๋ยสำหรับต้นไม้ในป่า และเป็นอาหารให้แก่สัตว์อื่น ๆ
การอยู่อาศัย : ช้างเป็นสัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นฝูงที่เรียกว่า "โขลง" มีความสัมพันธ์กัน แบ่งหน้าที่ระมัดระวังความปลอดภัย ช่วยกันดูแลลูกช้าง มีช้างพังอายุมากเป็นจ่าโขลง เรียกว่า "แม่แปรก" ในโขลงช้างจะประกอบด้วยช้างตัวเมีย และลูกช้างเป็นส่วนมาก เมื่อช้างตัวผู้ โตเต็มที่ จะถูกขับออก หรือแยกตัวออกไปจากโขลง
กระทิง (Gaur)

กระทิง (Gaur)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bos gaurus
ลักษณะ : กระทิงเป็นสัตว์กีบคู่ มีรูปร่างคล้ายวัว ความสูงถึงไหล่ประมาณ 170 -185 เซ็นติเมตร หนัก 650 - 900 กิโลกรัม ขนสั้นเกรียนเป็นมันสีดำ หรือแกมน้ำตาล ขาสีขาวนวลคล้ายสวมถุงเท้า บริเวณหน้าผากมีหน้าโพธิ์สีเทาปนขาว หรือปนเหลือง สันกลางหลังสูง มีเขาทั้งตัวผู้ และตัวเมีย เขาโค้ง โคนเขามีสีเหลือง ปลายเขาสีดำ ใต้ผิวหนังมีต่อมน้ำมัน ซึ่งน้ำมันมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย
ตามปกติกระทิงไม่ดุร้าย เว้นแต่ถูกทำร้าย หรืออยู่ในระหว่างฤดูผสมพันธุ์ ส่วนใหญ่มักอยู่รวมกันเป็นฝูง ฝูงหนึ่งประกอบด้วยตัวผู้ตัวเต็มวัยหนึ่งตัว นอกนั้นเป็นตัวเมียและวัยรุ่น พบได้ตั้งแต่ฝูงละไม่เกิน 10 ตัว ไปจนถึง 60 - 80 ตัว บางพื้นที่มากกว่า 100 ตัว ตัวผู้ที่เติบโตขึ้นอาจ แยกออกไปตั้งฝูงของตัวเอง หรือถ้าเริ่มพ้นวัยหนุ่ม ก็อาจแยกไปเป็นกระทิงโทน แต่จะเข้ารวมฝูงเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ กระทิงมีอายุยืน 25-30 ปี สามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี ส่วนใหญ่จะผสมพันธุ์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ตัวเมียตั้งท้อง 9 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว
การอยู่อาศัย : กระทิงอาศัยอยู่ได้ในสภาพป่าที่หลากหลาย โดยเฉพาะป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบเขา อาหารเป็นใบไม้ หญ้า และดินโป่ง ฝูงกระทิงจะเดินหากินสลับกับนอนหลับ พักผ่อนตลอดทั้งวัน
หมาใน (Dhole)

หมาใน (Dhole)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cuon alpinus
ลักษณะ : หมาใน เป็นหมาป่าหนึ่งในสองชนิดที่พบในประเทศไทย มีขนาดใหญ่กว่าหมาจิ้งจอก ขนาดและรูปร่างคล้ายสุนัข หนักประมาณ 10 - 21 กิโลกรัม ตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่า ลักษณะลำตัวค่อนข้างยาว มีสีน้ำตาลแกมแดง แก้มขาว คาง คอ และอกเป็นสีขาวเหลือง หูเล็ก หางยาว เป็นพวง ปลายหางมีสีเทาเข้มหรือดำ อายุยืนประมาณ 15 ปี เริ่มผสมพันธุ์เมื่ออายุ 2 ปีขึ้นไป ตั้งท้องนานประมาณ 2 เดือน ออกลูกครั้งละ 4–6 ตัว
หมาใน จัดเป็นสัตว์ที่หายาก เป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Cuon ที่ยังคงดำรง เผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง โดยปกติจะพบ 6 - 12 ตัว มีระบบประสาท หู ตา และการดมกลิ่นดีเยี่ยม บวกกับมีสมาชิกจำนวนมากทำให้สามารถล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ เช่นกวางป่า เก้ง กระจง กระทิง หมูป่า โดยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีโอกาส มากที่จะได้พบเห็นฉากการไล่ล่าระหว่างฝูงกับเหยื่อ
การอยู่อาศัย : โดยธรรมชาติ หมาในไม่ค่อยอยากยุ่งเกี่ยวกับคน และมักเลี่ยงคนเสมอ หมาในชอบน้ำมาก มักลงน้ำหลังจากกินอาหาร และมักนั่งแช่น้ำตื้น ๆ ไม่ว่าอากาศจะร้อนหรือเย็น
กวางป่า (Sambar Deer)

กวางป่า (Sambar Deer)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rusa unicolor
ลักษณะ : กวางป่าเป็นสัตว์จำพวกกวางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่มีในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความสูงจากพื้นถึงหัวไหล่ประมาณ 140 - 160 เซนติเมตร หนัก ประมาณ 185 - 220 กิโลกรัม กวางป่าเพศผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าเพศเมีย ขนสั้นหยาบสีน้ำตาลเข้ม ขนของกวางป่าจะหยาบแข็ง และไม่ขึ้นถี่อย่างขนเก้ง ขนมีสีเทาน้ำตาลแกมเหลืองอ่อน สีไม่ฉูดฉาดอย่างสีขนของเก้ง หางเป็นพวงค่อนข้างสั้น
การอยู่อาศัย : มักอาศัยอยู่ตามป่าทั่วไป รวมทั้งป่าทึบ ออกมาหากินอยู่ตามริมทาง ลำธาร และทุ่งโล่ง ชอบกินใบไม้และยอดอ่อนของพืชมากกว่าหญ้า รวมถึงดินโป่งด้วย กวางมักจะอยู่ตามลำพังตัวเดียว ออกหากินตั้งแต่ตอนเย็นถึงเช้าตรู่ ส่วนกลางวันจะนอนในที่รกทึบ หรือนอนแช่ปลักโคลนเพื่อป้องกันแมลง ฤดูผสมพันธุ์ของกวางป่า อยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม ช่วงนี้ตัวผู้จะดุร้ายและหวงตัวเมียมาก จะต่อสู้กันอย่างดุร้ายเพื่อแย่งตัวเมีย กวางป่าพร้อมผสมพันธุ์ได้เมื่อ อายุ 18 เดือน ตั้งท้องนานประมาณ 8 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัวในช่วงต้นฤดูฝน ลูกกวาง จะเริ่มแยกจากแม่ไปหากินตามลำพังเมื่ออายุราว 1 ปี หรือ 1 ปีกว่า
เก้ง (Barking Deer)

เก้ง (Barking Deer)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Muntiacus muntjak
ลักษณะ : เป็นกวางขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 1 เมตร สูงประมาณ 50 เซนติเมตร น้ำหนัก 14-18 กิโลกรัมและมีแขนงเล็ก ๆ แตกออกข้างละสองกิ่ง ตัวผู้มีเขาสั้น ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ตัวเมียไม่มีเขา ขนตามลำตัวสีน้ำตาลแดง มีต่อมน้ำตาขนาดใหญ่และแอ่งน้ำตาลึก ตัวผู้มีเขี้ยวยาวยื่นออกมานอกริมฝีปาก ใช้สำหรับป้องกันตัว ตัวเมียเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุปีครึ่ง ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกเก้งมีจุดสีขาวตามตัว และจะค่อยจางหายไปเมื่อ มีอายุได้ราว 6 เดือน
การอยู่อาศัย : เก้งชอบกินใบไม้อ่อน หน่อไม้อ่อน มะขามป้อม และมะม่วงป่า เป็นสัตว์ที่กระหายน้ำเก่ง มักอาศัยอยู่ตามลำพังตัวเดียวตามพงหญ้าและป่าทั่วไป เว้นแต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ จะอยู่เป็นคู่ เป็นสัตว์ออกหากินตอนเย็นและเช้าตรู่ กลางวันหลับนอนตามพุ่มไม้ เมื่อตกใจจะส่งเสียงร้อง "เอิ๊บ-เอิ๊บ-เอิ๊บ" คล้ายเสียงสุนัขเห่า
ชะนีมือขาว (White-handed Gibbon)

ชะนีมือขาว (White-handed Gibbon)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hylobates lar
ลักษณะ : ชะนีมือขาว หรือชะนีธรรมดา มีทั้งสีดำและสีขาว ส่วนหลังมือและหลังเท้าเป็นสีขาว และมีวงขาวรอบใบหน้า ใบหน้าและหูมีสีดำ มือยาว รูปร่างเพรียว ไม่มีหาง ชะนีมีอายุยืนถึง 30 ปี ครอบครัวของชะนีมือขาวครอบครัวหนึ่งจะประกอบไปด้วย พ่อ แม่ และลูก ชะนีผสมพันธุ์ตอนอายุ 7 - 8 ปี ตั้งท้องประมาณ 8 เดือน ปกติออกลูกครั้งละ 1 ตัว มีเวลาตั้งท้อง นาน 210 วัน และให้ลูกกินนมเป็นเวลา 18 เดือน ลูกชะนีจะเกาะอยู่ที่หน้าอกแม่นานถึง 2 ปี เมื่ออายุได้ 8-9 ปี ก็จะแยกออกไปตั้งครอบครัวใหม่ ชะนีมือขาวชอบห้อยโหนไปตามกิ่งไม้ ใช้ชีวิตเกือบทั้งวันอยู่บนต้นไม้สูง ชอบร้องและผึ่งแดดเวลาเช้าตรู่บนกิ่งไม้ เวลาอากาศร้อนจัดจะลงมาจากต้นไม้สูงเพื่อหลบแดด เวลาตกใจจะเหวี่ยงตัวโหน ไปตามกิ่งไม้อย่างรวดเร็ว เหยี่ยวและงูเหลือมเป็นศัตรูสำคัญของชะนี
การอยู่อาศัย : ชะนีมือขาวอาศัยได้ในป่าหลายประเภท เช่น ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบทั้งชื้นและแล้ง มักเลือกอาศัยบนต้นไม้ที่มีใบรกชัฏ ออกหากินในเวลาเช้าถึงเย็น อาศัยหลับนอนบนต้นไม้ โดยจะใช้ต้นไม้เป็นรังนอนหลายตัวภายในอาณาเขตครอบครองของแต่ละครอบครัว ต้นไม้ที่ใช้หลับนอนมักอยู่ใกล้แหล่งอาหาร อาหารหลักได้แก่ ยอดไม้อ่อน ใบไม้ ผลไม้ รวมทั้ง แมลงบางชนิด แต่จะกินผลไม้มากกว่าอาหารชนิดอื่น ๆ ดื่มน้ำด้วยการเลียตามใบไม้หรือ ล้วงเข้าไปวักในโพรงไม้

ชะนีมงกุฎ (Pileated Gibbon)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hylobates pileatus
ลักษณะ : เรียกอีกชื่อว่า "ชะนีหัวมงกุฎ" ตัวผู้สีดำ ตัวเมียสีขาวนวล เมื่อเกิดใหม่มีสีขาวนวลเหมือนกัน พออายุ 4-6 เดือน ขนที่หน้าอกจะเปลี่ยนสีเป็นสีดำ เกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมลงที่ท้อง และบนหัวขนเปลี่ยนเป็นสีดำ เกิดขึ้นตรงกลางหัวเป็นรูปทรงกลม พออายุ ประมาณ 3-4 ปี ขนชะนีมงกุฎตัวผู้จะเปลี่ยนเป็นสีดำทั่วทั้งตัว ยกเว้นคิ้ว ถุงอัณฑะ หลังมือหลังเท้าและ วงรอบใบหน้า ซึ่งขนจะเป็นสีขาวดังเดิม กินผลไม้ ยอดไม้ ไข่นก และแมลงต่างๆ เป็นอาหาร มีพฤติกรรมเหมือนชะนีทั่วไป เมื่อมีอายุ 7-8 ปี จึงผสมพันธุ์ได้ ตั้งท้องนานประมาณ 8 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว
การอยู่อาศัย : ชะนีเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในกลุ่มวานร (Ape) ชนิดเล็กที่สุด อาศัยอยู่บนต้นไม้ และกินผลไม้เป็นอาหารหลัก มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อระบบนิเวศในป่า ในฐานะผู้กระจายเมล็ดพันธุ์พืช โดยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่พบชะนี 2 สายพันธุ์ คือ ชะนีมงกุฏและชะนีมือขาว ซึ่งปกติชะนีทั้งสองชนิดนี้จะแยกกันอยู่ โดยมีอาณาเขตเป็นอิสระต่อกัน แต่ในพื้นที่ ป่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นสถานที่แห่งเดียวในโลก ที่ชะนีทั้งสองชนิดนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน
ลิงกังเหนือ (Northern Pig-tailed Macaque)

ลิงกังเหนือ (Northern Pig-tailed Macaque)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macaca leonina
ลักษณะ : เป็นลิงที่มีรูปร่างอ้วนสั้น ขนสั้นสีเทาหรือสีน้ำตาล หน้าค่อนข้างยาว ขนบนหัวสั้น มีสีเทาหรือ สีน้ำตาล และขึ้นวนเป็นก้นหอย ขนตรงส่วนใต้ท้องมีสีจางจนเกือบขาว หางค่อนข้างสั้น ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า และมีขนปรกหน้าผากน้อยกว่าลิงตัวผู้ ลิงกังชอบกินผลไม้ เมล็ดพืช และแมลงเป็นอาหาร เวลากินอาหารมักชอบเก็บไว้ข้างแก้มแล้วค่อยๆ เอามือดันอาหารที่เก็บไว้ออกมากินทีละน้อย ชอบลงมาอยู่ตามพื้นดินมากกว่าอยู่บนต้นไม้ แต่เวลานอน ขึ้นไปนอนบนต้นไม้
การอยู่อาศัย : ลิงกังเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 3-4 ปี ผสมพันธุ์ทุกฤดู ระยะตั้งท้องประมาณ 5-7 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว และมีอายุยืนราว 25 ปี แต่ละตัวอาจผสมพันธุ์กับตัวอื่นได้หลายตัว และไม่อยู่เป็นคู่
แมวดาว (Leopard Cat)

แมวดาว (Leopard Cat)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Prionailurus bengalensis
ลักษณะ : แมวดาวมีขนาดเท่ากับแมวบ้าน แต่มีความเพรียวมากกว่า  โดยเฉลี่ยน้ำหนักระหว่าง 3-7 กิโลกรัม ลำตัวถึงหัวยาว 44 -107 เซนติเมตร และหางยาว 23-44 เซนติเมตร ขนมีสีซีดสีน้ำตาลอ่อน บริเวณท้องสีขาว มีลายคล้ายดอกกุหลาบบริเวณลำตัวและหาง ส่วนปลายหางเป็นปล้อง มีแถบดำสี่แถบพาดขนานจากหน้าผากไปยังบริเวณคอ แมวดาวมีหัวขนาดเล็ก ปากสั้น และหูกลม
การอยู่อาศัย : หากินเวลากลางคืนทั้งบนดินและต้นไม้ ชอบนอนในโพรง บางครั้งกระโจนจากต้นไม้เพื่อจับสัตว์กิน เป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำเก่ง โดยจะล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน นก ปลา ซากสัตว์ และแมลง ระยะเวลาตั้งท้องนาน 65-72 วัน และออกลูกครั้งละ 1-4 ตัว
หมีควาย (Asian Black Bear)

หมีควาย (Asian Black Bear)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ursus thibetanus
ลักษณะ : หมีควายจัดเป็นหมีที่มีขนาดใหญ่ ความยาวลำตัวประมาณ 120 - 150 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 100 - 160 กิโลกรัม ขนยาวหยาบสีดำทั้งตัว ใต้คอเป็นรูปตัววี หูใหญ่ ปลาย จมูกค่อนข้างดำ เล็บเท้าโค้งยาวแหลม มักเดินด้วยส้นเท้า ปากยาว มีหางสั้น ปลายเท้ามีสีขาวหรือเหลือง ประสาทตาและหูไม่ค่อยไว แต่ประสาทรับกลิ่นดีมาก เป็นสัตว์กินไม่เลือก เช่น ลูกไม้ ใบไม้อ่อน สัตว์เล็ก ๆ และแมลง ที่ชอบมากคือน้ำผึ้ง และตัวอ่อนของผึ้ง
การอยู่อาศัย : ชอบอาศัยอยู่ป่าสูงและภูเขา ปกติออกหากินกลางคืน กลางวันนอนตามโพรงไม้หรือถ้ำ ขึ้นต้นไม้และว่ายน้ำเก่ง มีนิสัยดุ ชอบอยู่โดดเดี่ยวหรืออยู่ด้วยกัน 2-3 ตัว ชอบการต่อสู้ ถ้าเห็นคนมักหลบหนีไปก่อน เมื่อได้รับบาดเจ็บหรือจวนตัวจะสู้จนถึงที่สุด หมีควายตั้งท้องนานประมาณ 7 - 8 เดือน ออกลูกครั้งละ 1-2 ตัว ชอบออกลูกตามโพรงไม้ หรือในถ้ำ แม่จะเลี้ยงลูกจนโตพอสมควจนกระทั่งใกล้จะออกลูกตัวใหม่จึงปล่อยลูกหากิน ตามลำพัง
เลียงผา

เลียงผา (Serow)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Capriconis sumatraensis
ลักษณะ : เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "โครำ" เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย มีรูปร่างคล้ายแพะ ลำตัวสั้น ขายาว ขนยาวสีดำ อาจมีสีขาวแซม มีขนแผงคอด้านบนยาวและแข็ง พาดผ่านจากหัวไปถึงโคนหาง แต่จะเห็นยาวชัดเจนตั้งแต่หัวถึงกลางหลัง กะโหลกด้านหน้าแบน หูใหญ่ตั้ง มีเขาเป็นรูปกรวยเรียว โค้งไปทางข้างหลังเล็กน้อย โคนเขาหยักเป็นลอน มีต่อมน้ำตาอยู่ใต้ตา ต่อมนี้มีหน้าที่สร้างสารกลิ่นฉุนเพื่อใช้ในการทำเครื่องหมายประกาศอาณาเขต หางสั้นและเป็นพู่
การอยู่อาศัย : ชอบอาศัยอยู่บนภูเขาตามลำพัง ปีนป่าย และกระโดดไปตามหน้าผาชันได้อย่างคล่องแคล่ว มีนิสัยหวงถิ่น มีจุดถ่ายมูลประจำ มักหากินอยู่ไม่ไกลจากแหล่งพักผ่อน ชอบหากินตอนเย็นและตอนเช้า กินหญ้า เฟิร์น ใบไม้ และยอดอ่อน ตอนกลางวันจะหลบ อยู่ในพุ่มไม้หรือใต้ชะง่อนหิน พบได้ไม่บ่อยนักในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
เม่นใหญ่แผงคอยาว (Malayan Porcupine)

เม่นใหญ่แผงคอยาว (Malayan Porcupine)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hystrix brachyura
ลักษณะ : เป็นสัตว์ในอันดับสัตว์ฟันแทะ กลุ่มเดียวกับหนู กระรอก เป็นสัตว์ฟันแทะที่มีขนาดร่างกายใหญ่ หนาและเตี้ย มีอายุประมาณ 20 ปี ความยาวลำตัวและหัวประมาณ 65-73 เซนติเมตร ตัวเต็มวัยอาจหนักถึง 27 กิโลกรัม รูปร่างของหัวส่วนหน้าและจมูกค่อนข้างยาว ขนที่ส่วนใบหน้า ใต้คอ และใต้ท้องเป็นขนอ่อนหยาบสีน้ำตาล ขนด้านข้างลำคอ สันคอ ไปจนถึงตอนบนของหลังเป็นขนหยาบยาวสีดำเข้มเกือบดำ ขนหนามแข็งขนาดใหญ่ที่ใช้ป้องกันตัว จะขึ้นห่าง ๆ กัน ตั้งแต่กลางหลังไปถึงปลายหาง ยาวตั้งแต่ 5 - 30 เซนติเมตร เป็นขนยาวมีสีขาว และมีวงรอบขนสีดำอยู่กลางขน ภายในกลวง เมื่อเม่นแกว่งหางจะเกิดเสียงดัง เมื่อพบศัตรู จะแสดงอาการขู่โดยการกระทืบเท้า ตั้งขนขึ้นและสั่นหาง ทำให้เกิดเสียงดัง เม่นไม่สามารถสลัดขนไล่ศัตรูได้ แต่ขนเม่นหลุดง่าย เมื่อศัตรูถูกขนเม่นตำขนจึงหลุดติดไปกับศัตรู มีหนวดสีดำ ยาวประมาณ 10 - 20 เซนติเมตร ช่วยในการรับความรู้สึก
การอยู่อาศัย : เม่นเป็นสัตว์ที่สามารถปรับตัวให้อาศัยในหลากหลายสภาพแวดล้อม หากินในเวลากลางคืนเวลากลางวันจะหลบอยู่ในโพรงดิน
พญากระรอกดำ (Black Giant Squirrel)

พญากระรอกดำ (Black Giant Squirrel)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ratufa bicolor
ลักษณะ : พญากระรอกดำ เป็นกระรอกที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย น้ำหนักประมาณ 1 - 1.6 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มที่ ลำตัวและหัวจะยาว 33 - 37.5 เซ็นติเมตร หางยาว 42.5 - 46 เซ็นติเมตร หางยาวเป็นพวง ขนตามตัวและหางมีสีดำสนิท บางตัวอาจมีขนที่สะโพกหรือโคนหางออกสีน้ำตาล ขนบริเวณแก้มและท้องเป็นสีเหลืองหรือสีครีม
การอยู่อาศัย : ชอบอยู่ในป่าที่มีเรือนยอดไม้สูง พบได้ทั้งป่าดงดิบ และป่าเบญจพรรณ ออก หากินกลางวันและนอนกลางคืน สามารถพบได้บ่อยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
นากใหญ่ขนเรียบ (Smooth-coated Otter)

นากใหญ่ขนเรียบ (Smooth-coated Otter)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lutrogale perspicillata
ลักษณะ : นากชนิดนี้มีขนเรียบเป็นมัน ปลายหางแบนเห็นได้ชัด เส้นขนเหนือจมูกเป็นเส้นตรง ปาก แก้ม คอด้านล่าง และหน้าอกตอนบนมีสีขาวเหลือง ตอนบนของลำตัวสีน้ำตาลแก่ ตอนล่างหรือด้านหน้าท้องสีอ่อนกว่า อาจเป็นสีน้ำตาลหรือเทา มีหางยาวมาก ยาวกว่าครึ่งของลำตัวและหัวรวมกัน มือเท้าใหญ่สีซีด กินปลาเป็นอาหาร นากใหญ่ขนเรียบพบตามห้วย หนอง คลอง บึง ที่ราบลุ่มมีน้ำทั่วไป และแหล่งน้ำที่มีความสูงระดับต่ำ เมื่ออยู่บนบกไม่คล่องแคล่ว
การอยู่อาศัย : ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง และช่วยกันจับปลาโดยไล่ปลาไปข้างหน้า นากใหญ่ ขนเรียบจะต้อนปลาเป็นรูปครึ่งวงกลมไปยังที่น้ำตื้นแล้วจับปลากิน ส่วนใหญ่จะผสมพันธุ์ตอนต้นปี ตั้งท้อง 63 วัน โตเต็มที่เมื่อมีอายุได้ประมาณ 3 ปี ส่วนใหญ่จะมีลูกครั้งแรกเมื่อ อายุ 4 ปี
ลิงลมเหนือ (Northern Slow Loris)

ลิงลมเหนือ (Northern Slow Loris)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nycticebus bengalensis
ลักษณะ : เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับวานร (Primates) ในวงศ์ลิงลม (Lorisidae) สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ซึ่งลิงลมเหนือนับเป็นลิงลมที่เพิ่งมีการจำแนกออกเป็นชนิดใหม่ มีน้ำหนักตัว 900-1,400 กรัม ใบหูมองเห็นได้ชัดเจน โดยหูจะจมหายไปกับขนบนหัว สีขนมีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามสภาพพื้นที่ ตั้งแต่ สีเทาอมครีม สีครีมสีน้ำตาลอ่อน สีส้มหม่น มีเส้นพาดกลางหลังสีน้ำตาลจรดหาง ขนรอบดวงตาเป็นสีเข้ม
การอยู่อาศัย : ในเวลากลางวัน การเคลื่อนไหวดูเชื่องช้ามาก แต่จะว่องไวในเวลากลางคืน เมื่อหาอาหาร และเวลาที่โดนลมพัด อันเป็นที่มาของชื่อ "ลิงลม" เมื่อตกใจมักจะเอาแขนซุกใบหน้าไว้ จนเป็นที่มาของชื่อ "นางอาย" พบได้ไม่บ่อยนักในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
หมีขอ (Binturong)

หมีขอ (Binturong)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Arctictis binturong
ลักษณะ : มีชื่อเรียกอีกว่า "บินตุรง" หรือ "หมีกระรอก" เป็นสัตว์ในกลุ่มชะมดและอีเห็น ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด หน้าตาคล้ายหมีจนเป็นที่มาของชื่อ "หมีขอ" ขนตามลำตัวสีดำ ค่อนข้างยาวและหยาบ หางยาวเป็นพวงคล้ายกระรอก ทำให้ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "หมีกระรอก" หางสามารถยึดเกี่ยวกับต้นไม้ได้ดี หูกลม ขนหลังหูค่อนข้างยาว ขนที่หัวสีเทา บางตัวมีขนสีขาวที่หน้า
การอยู่อาศัย : หมีขอส่วนใหญ่จะหากินในเวลากลางคืน ในเวลากลางวันจะนอนในโพรงไม้ หรือพุ่มไม้ ชอบอยู่ตามลำพัง แต่บางครั้งอาจพบเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เช่น แม่และลูก อาหารหลัก ได้แก่ ผลไม้ แมลง และสัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ ปีนต้นไม้ได้เก่ง ใช้หางยาวคอยเกาะเกี่ยวกิ่งไม้จากต้นหนึ่งไปยังอีกต้น นอกจากนี้ยังว่ายน้ำได้อีกด้วย พบได้ไม่บ่อยนักในอุทยาน แห่งชาติเขาใหญ่
ขอบคุณภาพจาก
Phanakorn Kraomklang
รักษ์เขาใหญ่